ชุมพรเมืองต้องห้าม..พลาด
อบรมเชิงปฏิบัติการ การท่องเที่ยวชุมพร,
ตกหมึก ทะเลชุมพร
ชุมพรเมืองทางผ่าน ที่ใครๆ ก็แค่ผ่าน แต่นายหัวไม่เคยผ่าน
ผมเป็นเป็นคนแปลกอย่างนึง ตรงที่ถ้าพูดถึงจังหวัดท่องเที่ยวแล้ว ผมจะชอบจังหวัดทางผ่านมากกว่าจังหวัดปลายทางที่ดังๆ หากมีเวลาว่างนั่งคิดทริปท่องเที่ยว จังหวัดที่ผมจะนึกถึงเป็นแรกๆ ก็จะเป็นจังหวัดทาางผ่านอย่างอุทัยธานี ลำปาง ราชบุรี สุพรรณบุรี และชุมพร
ชุมพรเป็นจังหวัดทางผ่านที่ผมผ่านบ่อยที่สุด เพราะต้องขับรถกลับบ้านที่ตรังอยู่เป็นประจำ แต่การผ่านของผมไม่เคยผ่านแล้วผ่านเลยนะครับ ผมจะแวะทุกครั้งที่ผ่านชุมพร ไม่ได้แวะแค่ซื้อของหรือแค่ทานข้าว แต่ผมแวะหาที่เที่ยวและค้างคืนอย่างต่ำ 1คืนเสมอ
ชุมพรเป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากครับ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ครบครัน ทั้งน้ำตก หาดทราย เกาะ แก่ง ป่า วัฒนธรรม อาหารทะเล ผลไม้และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ฯลฯ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ผมบอกได้เลยว่า เที่ยวได้ทั้งปีครับ
ผมได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ “กิจกรรมงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว”
กับทาง สำนักงานจังหวัดชุมพร และ ททท.ชุมพร ผลที่ได้คือจากเดิมที่เคยชอบชุมพรอยู่แล้ว กลับทำให้ผมชอบชุมพรมากยิ่งขึ้น เพราะขนาดผมเองเป็นนักท่องเที่ยวที่ท่องมาเยอะพอสมคร ก็เพิ่งจะรู้ว่าชุมพรมีแหล่งท่องเที่ยวอีกเยอะ ที่ยังรอให้ผมไปค้นหา
ทริปนี้เลยเก็บเอาบรรยากาศรวมๆ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเก่า และท่องเทียวใหม่ มาให้ชมกัน โดยรายละเอียดผมจะเน้นไปที่คลิปนะครับ
เอาเป็นว่าเราข้ามเรื่องวิชาการกันไปก่อน แล้วไปเริ่มกันที่กิจกรรมแรกกันเลยดีกว่า นั่นคือ
“กินข้าวหมู” (แค่เริ่มก็กินซะล่ะ)
ข้าวขาหมูนกน้อยเป็นอาหารแนะนำของอำเภอละแม เค้าทำขายมาหลายปี ดังนั้นถ้าไม่อร่อยจริง เชื่อผมเถอะครับว่าคงอยู่ไม่ได้นานขนาดนี้ แต่ระดับนายหัวเซียนขาหมู(รู้สึกจะเซียนกินซะทุกอย่างเกิ๊นนน) ถ้าไม่ได้ลองด้วยตัวเอง ผมไม่ค่อยจะเชื่อใครครับ
หลังจากลองแล้ว ผมมีข้อสรุปว่า ขาหมูนกน้อย มีจุดเด่นตรงที่ขาหมูที่มีความนุ่มมากครับ เคี้ยวไปเนี่ยไม่ติดฟันเลย น้ำจิ้มจะออกไปทางเปรี้ยวเผ็ดและหวานหน่อย ตามสไตล์คนชุมพรครับ (คนชุมพรไม่กินเผ็ดจัดเหมือนคนตรัง พัทลุงและนครศรีฯ) และนอกจากเมนูแนะนำอย่างขาหมูแล้ว ร้านนกน้อย ยังมีเมนูอื่นๆ อีกเยอะให้เลือกสรร เช่นกุ้งกะปิสะตอ ผัดไข่ใบเหลียง ปลาหมึกผัดน้ำพริกเผา เป็นต้น
ใครผ่านชุมพร ต้องอย่าลืมแวะชิมด้วยตัวเองนะครับ อย่าเชื่อนายหัวมากนัก 55
ร้านอยู่ติดถนนใหญ่ เปิด Google Map ค้นหา ขาหมูนกน้อย ละแม ชุมพร ก็จะเจออย่างง่ายดาย ร้านจะอยู่บนทางหลวงหมายเลข 41 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 87 กับ 88
แผนที่ ขาหมูนกน้อยละแม ชุมพร
กิจกรรมต่อไปเป็นการตกหมึกช่วงหัวค่ำครับ ดังนั้น เราจึงต้องไปถึงท่าเรือกันประมาณตอนเย็น
พอลงเรือปุ๊บสยามคาตามารัน ก็เตรียมมื้อเย็นแบบปักษ์ใต้ไว้รออยู่แล้ว จัดสิครับ จะรอไรอยู่!!!
การตกหมึกนั้นต้องใจเย็นนิดนึง และต้องรอตอนฟ้ามืดครับ ถึงจะได้ผลดี และผมก็ตกได้เป็นตัวแรกของเรือ แต่นั่นก็เป็นตัวสุดท้ายของผมเช่นกัน 555 เพราะมัวแต่วิ่งถ่ายคลิปหมึกที่คนอื่นตกได้อยู่นั่นเอง
พอเริ่มมืดมากๆ หมึกจะมาเยอะ คนเรือตกได้เยอะมาก(มืออาชีพ) ส่วนคนที่ไม่เคยตก หรือนานๆ ตกทีแบบผม ก็เน้นเอาฮา และเน้นถ่ายภาพหมึกของชาวบ้านเค้าครับ อิอิ
ตกหมึกกันแล้ว พลาดไม่ได้ที่จะต้องชิมหมึกสดๆ กันบนเรือ อันนี้ต้องบอกว่ารสชาดมัน หวาน อร่อยมาก อีกทั้งน้ำจิ้มก็จี๊ดถึงทรวง ถึงขนาดต่อมเหงื่อ ต่อมน้ำตาแตกกันเลยทีเดียว
เอาเป็นว่ากิจกรรมวันนี้ของผมนั้นช่วงบ่ายเน้นไปที่การประชุม พอตกเย็น ก็มีแค่ตกหมึกนี่แหละ.. กลับจากท่าเรือกันแล้ว ก็เข้าพักที่ นานาบุรี เป็นที่พักที่อยู่ในเมืองไม่ไกลจากท่าเรือ
————————————————–
ชุมพรเมืองต้องห้าม..พลาด
ธนาคารปู ,กินปูห้อยขา บ้านเกาะเตียบ อ.ปะทิว ชุมพร
หลังจากที่จัดการมื้อเช้าที่ โรงแรมนานาบุรีกันเสร็จ วันนี้ผมออกเดินทางไปอำเภอปะทิวครับ ตลอดเส้นทางเราจะเจอกับ สวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้ เขียวชะอุ่มตลอดทาง นั่งมองวิวกันเพลินตาเลยทีเดียว จุดแรกทีแวะวันนี้คือ วัดแก้วประเสริฐ ซึ่งเป็นวัดที่เน้นปฏิบัติธรรม อีกทั้งยังเป็นจุดชมวิวอ่าวทุ่งมหาอีกด้วย
จุดเด่นของวัดแก้วประเสริฐก็คือ หลวงพ่อองค์ขาวสูงถึง 53 เมตร(กำลังก่อสร้าง) นั่งหันหน้าออกสู่อ่าวมหา โดยเราสามารถขึ้นชมวิวอ่าวมหาบนฐานรูปปั้นของหลวงพ่อได้เลยครับ
จุดต่อไป ถือว่าเป็นไฮไลท์ของวันนี้เลยก็ว่าได้ครับ เพราะเป้าหมายเราก็คือ ไปชมธนาคารปู และไปกินปูห้อยขากันที่ เกาะยอ บ้านเกาะเตียบนั่นเอง
การทำธนาคารปูนั้น มาจากการที่ชาวบ้านต้องการอนุรักษ์ปูให้อยู่คู่กับทะเลตลอดไป แนวความคิดจึงเริ่มจาก การน้ำเอาปูที่มีไข่ที่จับได้ หรือที่มีขายในท้องตลาดกลับสู่ธรรมชาติครับ
เพราะไข่นั้นสามารถฟักได้อีกเป็นร้อยเป็นพันตัว
ธนาคารปู จึงรับบริจาคปูที่มีไข่ที่ยังไม่ตาย ต่อจากนั้นนำมาเลี้ยงในกระชัง เพื่อให้แม่ปูฟักไข่เองตามธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาลูกปูก็จะหลุดออกจากกระชังกลับสู่ทะเล แม่ปูก็จะถูกนำไปบริโภคตามปกติ
หลังจากเริ่มการทำธนาคารปูไปสักพัก ชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “มีปูให้กินทั้งปี” อีกทั้งบริเวณชายหาด น้ำตื้นๆ เราก็จะสามารถเห็นปูตัวเล็กๆ เต็มไปหมดครับ
หากเรายืนอยู่ที่ชายหาดบนบ้านเกาะเตียบ และหันหน้าสู่ทะเล เราจะเจอเกาะ 3เกาะนั่นคือ เกาะเวียง เกาะยอ และเกาะพระ
และเกาะยอคือเป้าหมายเต่อไป เพราะเราจะไปกินปูห้อยขากันที่นั่น…นั่นเอง
ระหว่างการเดินทางเราจะเจอเกาะอื่นๆ อีกเยอะ ผมจำได้อีกเกาะคือ “เกาะนมสาว” ส่วนเกาะอื่นผมจำไม่ได้ล่ะ ฮี่ๆๆ ขวามือเราจะเห็น หลวงพ่อองค์ขาว ที่วัดแก้วประเสริฐเด่นตระหง่าอยู่บนภูเขาครับ วิวระหว่างเดินทางไปเกาะยอ เรียกได้ว่าแจ่มเลยล่ะ
ระหว่างนั้นเรือจะพาเราไปชมน้ำสีฟ้าใสๆ และเขาเขียวขจีที่เกาะเวียงครับ
ก่อนจะมุ่งหน้าตรงไปยังเกาะยอ
ข้างเกาะยอนั้นจะมีศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำของ ลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร ซึ่งที่นี่แหละครับ ที่เราจะขึ้นไปกินปูห้อยขากัน
ปูที่นี่นายหัวบอกเลยว่าอร่อยม๊วกกกก เพราะเป็นปูตัวเล็ก กินได้ทั้งตัว ไม่ต้องจิ้มน้ำจิ้มซีฟู๊ด ก็หวาน มัน กรอบ อร่อย พูดแล้วน้ำยายไหย เอ้ย น้ำลายไหล!!!
ปูมีขนาดเล็ก กระดองนิ่ม กินได้ทั้งตัวนายหัวคอนเฟิร์ม อิอิ
และการกินปู ก็เป็นไปอย่างสะดวกสบาย เพราะเราสามารถนั่งห้อยขา ชมวิวไปด้วยได้เลย ไม่ต้องกลัวจะเมื่อย หรือเป็นตะคริว เรียกว่าทั้งอร่อยทั้งสบาย แถมวิวก็แจ่ม แหล่มสุดๆ ไปเลย
อิ่มปูดูวิวกันไปแล้ว ต่อไปต้องไปชมรอบๆ เกาะยอกันหน่อยครับ มาถึงที่แล้ว ไม่ไปก็เสียชื่อนายหัวแย่ เกาะยอจะเป็นเกาะเล็กๆ เดินแค่ 5-10 นาทีก็ทั่วแล้ว โดยเกาะยอจะอยู่ระหว่างเกาะเวียงและเกาะพระ
เราสามารถพักชมวิวบนเกาะยอตรงไหนก็ได้ครับ นายหัวคอนเฟิร์มครับว่า วิวดี
อากาศดีจริงไรจริง
ขากลับเรือจะวนผ่านเกาะพระ ซึ่งเกาะนี้มีชายหาดด้วย แต่ไม่ได้แวะนะครับ เกาะนี้เป็นพื้นที่สงฆ์ ควรให้อยู่แบบสงบแบบนี้แหละครับจะดีที่สุด
แต่เรือจะพาไปชมเกาะเตียบ(เกาะเสียบ) แบบใกล้ๆ
ดูๆ แล้วได้อารมณ์แบบเขาตะปูที่พังงาครับ แต่เกาะเตียบจะมีขนาดเล็กกว่า
พอถึงฝั่งปุ๊บก็มีอาหารพื้นบ้านแบบปักษ์ใต้รออยู่แล้ว แหม๊…
อย่างนี้ต้องจัดหนักสิครับ (กินอีกล่ะ)
ธนาคารปูและการกินปูห้อยขานั้น หลังจากสอบถามชาวบ้านและผู้เกี่ยวข้องแล้ว ได้ความว่า ยังไม่มีการให้บริการแบบทุกวัน หรือแบบเป็นทางการนะครับ ดังนั้นใครอยากจะไปดูธนาคารปู และกินปูห้อยขา สามารถติดต่อได้ที่ ททท.ชุมพร โดยตรง หลังจากนั้นทาง ททท.ชุมพร จะเป็นคนประสานให้เองครับ
ททท.ชุมพร 077-502775-6 077-501831 tatchumphon2@gmail.com Facebook :webtatchumphonfanpage
ออกจากบ้านเกาะเตียบ มุ่งหน้าไปยังสหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา ที่นี่เป็นโรงงานหมอนยางพารา100%เป็นผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน แต่คุณภาพระดับส่งออก ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ
หากใครต้องการได้หมอนสุขภาพดี ที่ผลิตมาจากยางพาราแท้ๆ 100% ก็ไม่จำเป็นต้องไปถึงโรงงานแบบผมนะครับ สามารถหาซื้อได้ที่ร้าน “ประชารัฐ” ในปั๊มจิงโจ้เมืองชุมพร หรือ สามารถติดต่อโดยตรง เพื่อสั่งซื้อ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่
นาวี 095-465 5675 , 098-874 1480
วันนี้เดินทางกันมาทั้งวัน พอแดดร่มลมตกก็ต้องหาที่พักกันหน่อยครับ เป็นที่ไหนไปไม่ได้ นอกจาก “จุดชมวิวเขามัทรี” เพราะที่นี่เราจะเห็นวิวทะเล เมืองชุมพรกันแบบ 360องศากันเลยทีเดียว
นอกจากนั้นยังมีกาแฟถ้ำสิงห์ กาแฟชุมพรแท้ ให้ลองชิมพร้อมนั่งชมวิวรับลมเย็นๆ อีกด้วย
มาถึงชุมพรแล้ว ไม่แวะกราบไหว้เสด็จเตี่ย ก็กระไรอยู่นะ ห่างจากเขามัทรีแค่แป๊บเดียว
ปิดท้ายทริปวันนี้ด้วยร้านอาหารน้องใหม่ทรายรีบีชซีฟู๊ด อร่อยจริง เด็ดจริง
แถมวิวช่วงโพล้เพล้นี่แจ่มมาก
———————————————–
วันที่3 ชุมพรเมืองต้องห้าม..พลาด
กาแฟถ้ำสิงห์,บ้านธรรมชาติ
วันนี้ผมเริ่มทริปเช้าด้วยการไปชมต้นกาแฟสดๆ และการผลิตกาแฟ ในแบบฉบับวิสาหกิจชุมชนกาแฟถ้ำสิงห์
ท่านนายกฯอบต. ได้เล่าความเป็นมาของตำบลถ้ำสิงห์ว่า เป็นพื้นที่ ที่มีดินเหมาะสำหรับปลูกกาแฟ เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้กาแฟถ้ำสิงห์เป็นกาแฟที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้งรายได้ทั้งหมดก็กลับสู่ชุมชนอย่างแท้จริงๆ
หลังจากนั้นท่านก็พาไปท่องสวนผสมผสานของถ้ำสิงห์ ซึ่งมีทั้งทุเรียน กาแฟ กล้วย หมาก สละ ลองกอง เงาะ พืชสวนครัว ซึ่งการปลูกพืชแบบนี้ จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ตลอดทั้งปีนั่นเอง
ต่อจากนั้นท่านนำไปชม โรงสีกาแฟสด รวมไปถึงเครื่องคั่วกาแฟครับ ได้กลิ่นกาแฟที่ออกจากเครื่องคั่วใหม่ๆ เนี่ย ขนาดคนไม่ดื่มกาแฟอย่างผม ยังรู้สึกฟินนนเลยครับ มันหอมแบบเย้ายวนมากก
แน่นอนครับ ตำบลถ้ำสิงห์ ไม่ได้แค่มีกาแฟ ที่นี่ยังขึ้นชื่อเรื่องทุเรียนอีกด้วย และทุเรียนของชุมพร ก็จะออกผลผลิตต่อจากทุเรียนจากภาคตะวันออก ดังนั้น คอทุเรียนต้องห้ามพลาดนะครับ
หลังจากนั้นเราได้ข่าวว่า พระธาตุสวี บูรณะเสร็จแล้ว เราจึงโฉบจาก อ.เมือง ไปยังพระธาตุเก่าแก่คู่เมืองชุมพร ที่อำเภอสวีครับ
หลังจากนั้นข้ามไปยังอำเภอทุ่งตะโก เพื่่อไปชมผลิตภัณฑ์และทานมื้อเที่ยงกันที่
“บ้านธรรมชาติ วรรณภัสสร”
บ้านธรรมชาติ วรรณภัสสร เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในการสอนการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากธรรมชาติเพื่อใช้เองภายในครัวเรือน
นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตมาจากธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีสารเคมีเจือปน และเปิดให้บริการเป็นโฮมเสตย์อีกด้วย
มื้อเที่ยงวันนี้เรียกว่าวัตถุดิบทุกอย่างมาจากในสวนข้างๆ บ้านธรรมชาตินี่แหละ ทุกอย่างปลอดสารพิษ อีกทั้งอร่อย จัดจ้าน ตามสไตล์ปักษ์ใต้
ต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับที่พัก ผลิตภัณฑ์ หรือกิจกรรรม
ของบ้านธรรมชาติ วรรณภัสสร ติดต่อโดยตรงที่
คุณเจี๊ยบ โทร:087-914 2142 , 081-586 9554
facebook: wanapatsonshop
Lind ID : ws.jeab
รายละเอียดทริป บรรยากาศแหล่งท่องเที่ยวจริง พร้อมตัวจริงเสียงจริง ของนายหัว
สามารถรับชมได้จากคลิปด้านล่างนี้เลยครับ
ทริปของผมทั้ง 3วัน เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของการท่องเที่ยวชุมพรเท่านั้น จังหวัดนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายอีกเยอะให้ไปค้นหา ถึงแม้ผมเองจะไปชุมพร มานับครั้งไม่ถ้วน แต่ผมก็ไม่เคยมีความเบื่อกับจังหวัดนี้เลย เพราะสำหรับผมแล้ว ชุมพรคือเมืองที่..ต้องห้ามพลาด…อย่างแท้จริง
ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดี
-สำนักงานจังหวัดชุมพร
-การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานชุมพร
ติดตามนายหัวผ่าน Youtube ได้ที่ช่อง
ไม่อยากพลาดทริปของนายหัว อย่าลืมกด Subscribe ด้วยนะครับ
ขอบคุณที่ติดตาม ขอบคุณมากมาย ขอบคุณอย่างแรง…นายหัว